วันป่าไม้โลก 2021 (World Forestry Day 2021)
.
วันป่าไม้โลกตรงกับวันที่ 21 มีนาคม ของทุกปี วันนี้ถูกกำหนดให้มีขึ้นเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์มีความผูกพันกับป่าและมีการใช้ประโยชน์จากป่ามาอย่างยาวนาน ป่าเป็นทั้ง แหล่งต้นน้ำ แหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตและดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการมีป่าจึงหมายถึงการมีชีวิต
.
โดยในปี 2021 นี้ องค์การสหประชาชาติได้กำหนดธีมงานในหัวข้อเรื่อง “ฟื้นฟูป่า ฟื้นคืนชีวิตและความผาสุก” (Forest Restoration: A path to recovery and well – being) เนื่องจากทรัพยากรป่าของโลกถูกทำลายมากขึ้น มนุษย์เข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าเพื่อการทำอุสาหกรรม การขยายชุมชนเมือง ตลอดจนการเกิดไฟป่าที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและเป็นบริเวณกว้างทำให้พื้นที่ป่าที่มีอยู่บนผิวโลกลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปและส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความสุขของมนุษยชาติที่ค่อย ๆ น้อยลงไป
การฟื้นฟูผืนป่า เป็นหนทางในการฟื้นคืนชีวิตของโลกและความผาสุกของมนุษยชาติ แต่การที่จะทำให้ป่ากลับฟื้นคืนมาได้อาจต้องใช้ระยะเวลาหลายชั่วอายุคน ในปัจจุบันมนุษย์ใช้ประโยชน์จากป่ามากขึ้น โดยเฉพาะการใช้พื้นที่ป่าที่มุ่งเน้นไปในทางการทำอุตสาหกรรม การสัมปทานเหมือง และการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ใช้พื้นที่ป่าจำนวนมหาศาลในการเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ ทำให้ในอนาคตโอกาสที่จะฟื้นกลับคืนมาของผืนป่าแทบไม่เหลือเลย ถึงแม้จะมีการทำกิจกรรมปลูกป่า โปรยเมล็ดพันธุ์ แต่ดูเหมือนกิจกรรมดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากขาดความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติของป่า ดังจะเห็นกิจกรรมที่มีการไถดินแล้วนำต้นกล้าลงมาปลูก ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวใช้งบประมาณมหาศาลแต่ผลที่ได้กลับมาดูเหมือนจะไม่คุ้มเอาเสียเลย
.
ในมุมกลับกัน การอนุรักษ์ป่าในแบบนักอนุรักษ์ชนชั้นกลาง หรือมุมมองของคนเมืองที่พยายามผลักดันให้ป่าที่เคยอยู่ร่วมและผู้พันธ์กับมนุษย์มาอย่างยาวนานให้เป็นป่าที่ปลอดคน ผมขอยกคำพูดของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุล เลขาของสมาคมนักนิยมไพร ที่เคยกล่าวไว้ว่า “ต่อไปนี้ป่าไม่ใช่อาหารเพื่อปากท้อง แต่เป็นอาหารสมอง อาหารของตา เป็นสุนทรียะ” สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของคนเมืองที่มีต่อป่า ขาดความเข้าใจในมิติความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับคน เพราะในอดีตคนก็เคยอาศัยอยู่ร่วมกับป่าก่อนจะกลายมาเป็นสังคมเมืองอย่างในปัจจุบัน ในกรณีกลุ่มชาติพันธุ์บางกลอยที่ตอนนี้กำลังถูกผลักดันและขับไล่ให้ออกจากป่าที่พวกเขาเคยอาศัยและอยู่ร่วมกับป่ามาอย่างยาวนานก่อนที่ในป่านั้นจะถูกประกาศให้เป็นเขตพื้นที่อุทยานเสียด้วยซ้ำ ในกรณีนี้สามารถสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่ารัฐขาดความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับป่า การขับไล่คนที่อยู่ในป่าและมีความผูกพันธ์กับป่าให้ออกไปจากป่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทั้งหมดในการอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่า การฟื้นฟูผืนป่าควรจะเป็นไปในแนวทางที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับป่าและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน มากกว่าการขับไล่พวกเขาให้ออกไปจากป่า หากมองในอีกมุมหนึ่งที่รัฐสัมปทานพื้นที่ป่าให้กลายเป็นเหมือง เป็นเขื่อน นั้นดูเหมือนจะเป็นการทำลายป่ามากกว่าเสียอีก
.
การอนุรักษ์ป่าไม้และการฟื้นฟูสภาพป่าไม้อย่างยั่งยืนคือการทำให้มนุษย์และป่าเกิดความผูกพันธ์ จึงจะทำให้มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากป่า เมื่อมนุษย์ใช้ประโยชน์จากป่าจะทำให้เกิดความเข้าใจว่า ป่าไม้มีประโยชน์และจำเป็นกับการดำรงชีวิต ทำให้เกิดความรัก เกิดความหวงแหนป่าไม้และธรรมชาติที่พวกเขาพึ่งพาและใช้ประโยชน์จากมัน ดังที่เราจะเห็นได้จากเหตุการณ์ไฟป่าในภาคเหนือของประเทศไทยที่มีอาสาสมัครและชาวบ้านในบริเวณนั้นร่วมมือกันทำแนวกันไฟป่าและช่วยกันดับไฟป่า วันป่าไม้โลกในปี 2021 ในปีนี้ได้กำหนดกรอบแนวคิดเรื่อง ฟื้นฟูป่า ฟื้นคืนชีวิตและความผาสุก ดังนั้น การที่ป่าฟื้นฟูและมนุษย์สามารถได้ใช้ประโยชน์จากป่าอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจ รัก และหวงแหนป่าไม้ที่พวกเขาได้ใช้ประโยชน์ จึงจะถือได้ว่าเป็นการฟื้นคืนป่า ฟื้นคืนชีวิตและความผาสุกของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน
.
ภาพ : นฤดม พิมพ์ศรี
เรื่อง : นฤดม พิมพ์ศรี
ข่าวในหมวด
ONE DAY CAMMP : DNA x Touchdown Nasa
ONE DAY CAMP : DNA X นักบินอวกาศต้านแรงโน้มถ้วง
ศูนย์พิพิธภัณฑ์ฯ ร่วมให้บริการวิชาการในมหกรรม KKU CSV 2567