Thu. Jul 3rd, 2025

ความเป็นมา

มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี พ.ศ. 2507 ตามนโยบายการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ส่วนภูมิภาค ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ของประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังกระแสพระราชดำรัสแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในวันเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2510 ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า

 

“การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้นเป็นคุณอย่างยิ่งเพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนา ยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรจะยินดี”

 

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ตระหนักถึงพระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้นจึงได้ดำเนินการในแนวนโยบายเพื่อการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศ โดยการพัฒนาด้านการเรียน การสอน การวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปถ่ายทอดเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนเพื่อยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ให้มีความมั่นคงและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 105.5 ล้านไร่ ประชากร 21.6 ล้านคน ซึ่งทั้งพื้นที่และประชากรคิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของประเทศ ประกอบด้วย 19 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ แต่ปัญหาที่สำคัญของภูมิภาคคือ ความยากจน ซึ่งนอกเหนือจากปัญหาธรรมชาติแล้ว การขาดความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้ไม่สามารถใช้ หรือรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นปัจจัยที่สำคัญ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน เมื่อมีการบริการทางวิชาการหรือการสนับสนุนด้านการเงินแก่ชุมชนแล้ว เมื่อหมดโครงการก็ไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา เพื่อการเรียนรู้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงต้องพัฒนาคนก่อน โดยสร้างกลไกการเรียนรู้นอกระบบโรงเรียน อย่างน้อยให้กลุ่มเป้าหมายสามารถรองรับความรู้ ใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตประจำวันได้ อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ (knowledge based society) ในอนาคต

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2554-2559) ยังคงมุ่งเน้นให้อัญเชิญ“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ ควบคู่ไปกับกระบวนทรรศน์การพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 โดยมุ่งเน้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทย ผลการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 สรุปได้ว่า ประสบความสำเร็จที่น่าพอใจ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปรับตัวสู่ความมั่นคง ความยากจนลดลง ขณะเดียวกันระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นมาก อันเนื่องมาจากการดำเนินการเสริมสร้างสุขภาพอนามัย การมีหลักประกันสุขภาพที่มีการปรับปรุงทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยครอบคลุมคนส่วนใหญ่ของประเทศ และการลดลงของปัญหายาเสพติด ขณะที่ยังมีปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ที่ยังต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

ในระยะของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายบริบท ทั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้สามารถปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและแสวงหาประโยชน์อย่างรู้เท่าทันโลกาภิวัตน์และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทุกภาคส่วนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

การสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และความอยู่ดีมีสุขของคนไทยตามหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยให้คนไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างค่านิยมร่วมกัน การปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด ทัศนคติ และกระบวนการทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการแนวใหม่ที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและคุณภาพ โดยให้ความสำคัญของ “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” เยาวชนถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญและเป็นอนาคตของการพัฒนาประเทศ ในการปฏิรูปการศึกษาจึงได้มุ่งเน้นให้ “เยาวชนเป็นศูนย์กลาง” ให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ที่เหมาะสม เสริมสร้างพื้นฐาน จิตใจให้สำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ให้มีความรอบรู้ ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน มีความเพียร มีสติปัญญาและความรอบครอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งทางด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอก

วิทยาศาสตร์เป็นรากฐานสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาประเทศและเป็นดัชนีสำคัญในการชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ สถาบันนานาชาติเพื่อพัฒนาการจัดการ หรือ IMD (International Institute for Management Development) ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยประเมินจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) สมรรถนะด้านเศรษฐกิจ 2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และ 4) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในปี 2553 ไทยได้รับการจัดลำดับไว้ที่ 26 จาก 60 ประเทศ ปัจจัยหลักที่ประเทศไทยอ่อนแอมากที่สุดคือ โครงสร้างพื้นฐานซึ่งครอบคลุม สุขภาพ การศึกษา เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และทรัพยากรมนุษย์ อยู่ในลำดับที่ 42 ซึ่งตกต่ำจากปี 2553 อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลง เป็นสัญญาณเตือนให้ประเทศต้องปรับปรุงแก้ไขปัจจัยที่เป็นจุดอ่อน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Based Economy/ Society) เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับความสนใจของนักเรียนสายสามัญที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยพบว่า ร้อยละ 80 จะเลือกเรียนในคณะวิชาในสาขาทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เนื่องจากการเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความซับซ้อนและยากต่อการทำความเข้าใจ

มีผลงานวิจัยได้ผลสรุปไว้ว่า การพัฒนาทักษะกระบวนทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานจะมีผลทำให้เยาวชนมีทักษะกระบวนทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานสูงขึ้น สามารถคิดวิเคราะห์ และสร้างสรรค์ได้ดีขึ้น การที่เยาวชนได้มีโอกาสในการร่วมทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ก็จะช่วยให้เยาวชนเกิดทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้สืบค้นความรู้อีกมากมายในธรรมชาติจริงได้ นอกจากนั้นแล้วกิจกรรมวิทยาศาสตร์ยังช่วยให้เยาวชนได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงในธรรมชาติได้ด้วยตนเอง ช่วยให้เกิดความเข้าใจแทนความกลัว และความไม่เชื่อในหลักการของธรรมชาติ และทำให้เกิดการทดลองด้วยตนเองมากกว่าที่จะเชื่อตามที่ผู้อื่นบอก

เยาวชนจำเป็นต้องรอบรู้เกี่ยวกับความรู้ที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นความรู้ซึ่งต้องอาศัยพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าทุกคนจะไปเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักคณิตศาสตร์ แต่ทุกคนจะได้รับผลกระทบของวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานอยู่แล้วเป็นประจำอยู่แล้ว

มหาวิทยาลัยขอนแก่นมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งที่มหาวิทยาลัยตั้งเป้าหมายไว้ในการที่จะส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น และเพื่อให้สามารถนำความเป็นเหตุผลไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาในชีวิตประจำวัน อันจะมีผลให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนา ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม กิจกรรม “งานวันวิทยาศาสตร์” เป็นกิจกรรมหนึ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นในเยาวชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเข้าใจและมีความรักในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในแต่ละปีมีนักเรียน เยาวชน นักศึกษาจากโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 1-200,000 คน

โครงการจัดตั้งศูนย์พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะผลักดันเพื่อให้นักเรียน เยาวชนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้พื้นฐาน มีความรักและความเข้าใจ เนื้อหาวิชาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป ในโครงการนี้เบื้องต้นประกอบด้วย 2 พิพิธภัณฑ์ คือ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา(สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2559 และเปิดการอยู่ในปัจจุบัน) และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (เปิดการอยู่ในปัจจุบัน)

 

วิสัยทัศน์   ศูนย์พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นเครือข่ายของพิพิธภัณฑ์ระดับชาติและนานาชาติ