
เมื่อเวลา 9.30 น. วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องสมุดคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดยอาจารย์ ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าคณะวิจัย นายชวลิต ส่งแสงโชติ นักแมงมุมวิทยาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายทรงธรรม สิปปวัฒ์ หรือโจโฉ ยูทูปเบอร์ชื่อดัง จัดงานแถลงข่าวการค้นพบ “บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” หรือ Taksinus bambus บึ้งสกุลใหม่ของโลกในประเทศไทย ภายในงานได้จัดแสดงบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินที่ยังมีชีวิต พร้อมกับบึ้งอื่น ๆ ที่น่าสนใจในประเทศไทย โดยมีนักวิชาการอิสระ สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจ ร่วมการแถลงข่าวเป็นจำนวนมาก
การค้นพบบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินถือเป็นการค้นพบบึ้งสกุลใหม่ของเอเชียในรอบ 104 ปี โดยถูกค้นพบครั้งแรกที่จังหวัดตาก จึงได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดตาก และคนไทยทุกคน
บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินมีลักษณะนิเวศวิทยาดำรงชีวิตอยู่ในเฉพาะปล้องไผ่เท่านั้น ซึ่งถือเป็นบึ้งชนิดแรกของโลก เนื่องจากไม่มีการค้นพบกลุ่มที่อาศัยอยู่ในไผ่มาก่อน ความแตกต่างจากบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่น ๆ คือลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ที่สั้นและชันน้อยกว่าบึ้งสกุลต้นไม้อื่นที่พบมา รวมทั้งมีขนาดเล็กกว่าบึ้งสกุลอื่น ๆ อีกด้วย ในภาคพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบบึ้งต้นไม้อยู่เพียง 4 สกุล คือ Omothymus, Lampropelma, Phormingochilus และ Melognathus กระจายตัวอยู่ในแถบมาเลเซีย สิงคโปร์ สุมาตรา บอเนียว อินโดนีเซียฟิลิปปินส์ การค้นพบครั้งนี้วงการวิทยาศาสตร์จึงให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยบึ้งชนิดนี้ถูกค้นพบห่างไกลออกไปจากภูมิศาสตร์ทั้งหมดจากที่เคยค้นพบมาก่อนหน้านี้ ซึ่งถูกค้นพบที่ภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตร ในพื้นที่จังหวัดตากเท่านั้น ถือเป็นบึ้งที่หายากที่สุดในตอนนี้ก็ว่าได้
โดยสันนิษฐานว่าปล้องไผ่ที่บึ้งอาศัยอยู่ อาจเกิดจากสัตว์ฟันแทะเจาะเข้ามาใช้ประโยชน์ในการหาอาหารจากไผ่เพื่อกินหนอนที่อยู่ภายใน รวมถึงอาจเกิดจากสัตว์อื่น ๆ เช่น แมลงที่เจาะเข้าไป หรือเกิดจากการปริแตกตามธรรมชาติของต้นไผ่ รวมทั้งการกระทำของมนุษย์ บึ้งชนิดนี้จะอาศัยอยู่ภายในปล้องไผ่โดยสร้างใยปกคลุมล้อมรอบภายในปล้อง และมักออกมาหาอาหารเป็นสัตว์ขนาดเล็กหรือแมลงในช่วงกลางคืน
ทั้งนี้การค้นพบ บึ้งต้นไม้สกุลใหม่ของโลก Taksinus bambus ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยนานาชาติ Zookeys เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 และยังได้รับเกียรติในการนำรูปของบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินขึ้นปกวารสารทางวิทยาศาสตร์ Zookeys ฉบับที่ 1080 ในปี 2022 วารสารทางด้านสัตววิทยาที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ตามการที่บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินอาศัยอยู่เฉพาะต้นไผ่ สิ่งมีชีวิตที่ผูกติดกับอะไรบางอย่างมีโอกาสเสี่ยงต่อการสูงพันธุ์สูง เนื่องจากลักษณะการดำรงชีวิตที่ผูกติดกับไผ่ ในอนาคตจึงควรมีการอนุรักษ์ หรือมีแนวทางในการพัฒนา เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ล่าสุดมีข่าวที่น่ายินดีโดยค้นพบบึ้งภายในจังหวัดขอนแก่น ได้ตั้งชื่อเบื้องต้นว่า “บึ้งดำ มข.” ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นบึ้งชนิดใหม่เช่นเดียวกัน ขณะนี้อยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัยของคณะวิจัยที่ทำงานร่วมกันทุกฝ่าย
ในเวลา 13.00 น. ของวันเดียวกัน นายทรงธรรม สิปปวัฒ์ หรือโจโฉ ยูทูปเบอร์สายธรรมชาติ และป่าไม้ จากช่องยูทูป JoCho Sippawat โดยมีผู้ติดตามกว่า 2.51 ล้านคน หลังจากการแถลงข่าวการค้นพบบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในช่วงเช้า ทางพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มข. จึงได้เชิญคุณโจโฉและคณะผู้วิจัยมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มข. โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตพาเดินชมนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์
หลังจากเจ้าหน้าที่พาเดินชมและแนะนำนิทรรศการต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์จนครบแล้ว คุณโจโฉได้ถ่ายทำคลิปวิดีโอเดินชมพิพิธภัณฑ์พร้อมกับเล่าเรื่องราวและประสบการณ์ของตนกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ ก่อนจะเดินทางกลับในเวลา 15.00 น. โดยประมาณ
ข่าว :
ณัฐนรี มะปะไมย์
ภูมิศักดิ์ ชาวะไล
ภาพ :
ดวงกมล จันทร์เปล่ง
ข่าวในหมวด
กิจกรรมวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2568
One Day Camp ครั้งที่ 9 เปิดประสบการณ์การเรียนรู้สุดพิเศษ!!
ONE DAY CAMP ครั้งที่ 8 x Diamond Brain Tutor