วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก
(World Wildlife Day: WWD)
3 มีนาคม
วันนี้ได้กำหนดขึ้นโดยมติที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของการกำเนิดอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยกำหนดไว้ในปฏิทินให้วันที่ 3 มีนาคม เป็นวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก ซึ่งวันที่ 3 มีนาคมนี้ตรงกับวันที่มีการลงนามรับรองอนุสัญญา CITES ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อ พ.ศ. 2516
ในปี 2021 นี้วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกได้กำหนดแนวคิด “Forests and livelihoods: sustaining people and planet – ป่ากับชีวิตความเป็นอยู่: ร่วมสร้างความยั่งยืนเพื่อมนุษยชาติและโลกของเรา” เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของป่าได้แก่ ความหลากหลายของป่า และนิเวศบริการ (Ecosystem service) ในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนของมนุษย์หลายล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะชุมชนพื้นเมืองและท้องถิ่นที่มีความผูกพันทางประวัติศาสตร์กับพื้นที่ป่าและพื้นที่ใกล้ป่า ซึ่งมีการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของป่าและนิเวศบริการในการดำรงชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ป่าในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น เป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งพลังงาน และเป็นแหล่งสมุนไพรในการรักษาโรค ในปัจจุบัน ราว 28 เปอร์เซ็นต์ พื้นผิวโลกรวมไปถึงป่าไม้ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดในโลกถูกใช้ประโยชน์จากชนพื้นเมือง โดยพื้นที่เหล่านี้ไม่เพียงเป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวบ่งบอกถึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองในแต่ละพื้นที่นั้น ๆ อีกด้วย
ปัจจุบันความหลากหลายของป่าและความเป็นอยู่ของมนุษย์กำลังเผชิญกับวิกฤตินับตั้งแต่ ภาวะโลกร้อน นำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายและสิ่งเหล่านี้กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ นอกจากนี้เศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ก็ยังได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาด COVID-19 ซึ่งมีการระบาดอย่างหนักทั่วโลกอีกด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าว วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกในปีนี้จึงได้ให้ความสำคัญกับการร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าเพื่อความยั่งยืนของมนุษยชาติให้คงอยู่ต่อไปภายใต้แนวคิด “Forests and livelihoods : sustaining people and planet”
เรื่องและภาพ : นฤดม พิมพ์ศรี
ข่าวในหมวด
ONE DAY CAMMP : DNA x Touchdown Nasa
ONE DAY CAMP : DNA X นักบินอวกาศต้านแรงโน้มถ้วง
ศูนย์พิพิธภัณฑ์ฯ ร่วมให้บริการวิชาการในมหกรรม KKU CSV 2567