Sat. Nov 23rd, 2024

อินทนิลน้ำ : ปลูกประดับสวย ช่วยลดเบาหวาน

ดอกไม้สีม่วงอมชมพูสดใส กลีบดอกเหมือนผ้าแพรริ้วสวย เกสรตัวผู้สีเหลืองตรงกลาง ส่งกลิ่นหอมเบาๆ ชวนให้นึกถึงความสูงส่ง เจ้าอินทนิลน้ำ ชื่อในภาษาละติน speciosa แปลว่า “โอ้อวด” ในหน้าร้อนนี้ เหล่าดอกไม้ต่างพากันออกดอกสวยงาม และดอกอินทนิลน้ำ เป็นหนึ่งในดอกไม้ที่สีสันสวยงามมาก จนได้รับการตั้งชื่อสามัญว่าเป็น Queen’s flower สวยงามราวกับราชินีเลยทีเดียว นอกจากนั้นยังจะเห็นว่า มีดอกไม้ฝาแฝดกับอินทนิลน้ำอีก นั่นคือ ตะแบก เสลา และอินทนิลบก ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งดอก ใบ และลำต้น เราสามารถจำแนกอินทนิลน้ำจากต้นไม้อื่นๆ เหล่านี้อย่างง่ายด้วยการดูที่ใบ โดยใบของอินทนิลน้ำจะเป็นใบเรียบ ไม่มีขน และปลายแหลม
อินทนิลน้ำ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน พบมากในประเทศไทย อินทนิลน้ำเป็นพรรณไม้ประจำจังหวัดสกลนคร และจังหวัดระนอง อินทนิลน้ำปลูกง่าย โตไว ชอบแสงแดดจัด ขยายพันธุ์ได้ง่ายโดยการใช้เมล็ด ซึ่งก็สามารถขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ต่างๆ โรงเรียน สถานที่ราชการ ริมถนนหนทาง ออกดอกในช่วงปลายมีนาคมไปจนถึงต้นพฤษภาคม
มีงานวิจัยที่ศึกษาว่า ใบของอินทนิลน้ำมีสารโคโรโซลิค เอซิด (Corosolic Acid) ซึ่งออกฤทธิ์เหมือนอินซูลิน จัดเป็นอินซูลินจากธรรมชาติ ช่วยชะลอการย่อยแป้งในระบบทางเดินอาหารทำให้การลำเลียงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ดีขึ้น สามารถลดความดัน ลดน้ำตาลในเลือด และปรับการทำงานของไต โดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยให้ร่างกายนำกลูโคสไปใช้เป็นพลังงาน และยังสามารถควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย
ชื่อสามัญ Queen’s flower, Queen’s crape myrtle, Pride of India, Jarul, Pyinma
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia speciosa (L.) Pers.
วงศ์ : Lythraceae (วงศ์ตะแบก)
สกุล : Lagerstroemia

ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตะแบกดำ,ตะแบกอินเดีย,อินทนิล (ทั่วไป),บางอบะซา (นราธิวาส,ยะลา),บาเย,บาเอ (ปัตตานี,มาเลเซีย) ฉ่วงมู, ฉ่องพนา(กะเหรี่ยง)

เรื่อง : ปวีณา กุนเกตุ
ภาพ : นฤดม พิมพ์ศรี