Mon. Jan 13th, 2025

นุ่น

ชื่อสามัญ White silk cotton tree, Ceiba, Kapok, Java cotton, Java kapok, Silk-cotton

ชื่อวิทยาศาสตร์ Ceiba pentandra (L.) Gaertn.

ชื่อวงศ์ Malvaceae

ชื่อท้องถิ่น ง้าว งิ้วสาย งิ้วสร้อย งิ้วน้อย (ภาคกลาง), งิ้ว (คนเมือง), ปั้งพัวะ (ม้ง), นุ่น (ไทลื้อ), ต่อเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง)

 

ลักษณะทั่วไป

เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร ลำต้นตรงแตกกิ่งต่ำ เปลือกสีน้ำตาลอมเทา ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปรี ปลายเรียวแหลม โคนสอบและเบี้ยว ขอบใบหยักตื้นๆ ผิวเรียบ ช่อดอกสั้น ออกตามปลายกิ่ง ประมาณ 3-7 ดอก ดอกย่อยขนาดใหญ่สีขาวรูปแตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ขอบกลีบย่นเป็นริ้ว ผลเป็นฝักชนิดเปลือกแข็ง 2 ชั้น รูปขอบขนาน บิดไปมา เมล็ดแบนมีเยื่อบางๆ ติดหัวท้ายคล้ายปีก

 

ลักษณะทางพฤกษศาตร์

ต้นนุ่น จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ลำต้นสูงใหญ่เปลาตรง สูงได้ประมาณ 10-30 เมตร ตรงยอดแผ่เป็นพุ่มกว้าง ลำต้นเป็นสีเขียวและมีหนามขึ้นอยู่ทั่วไปบริเวณโคนต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มีถิ่นดั้งเดิมอยู่ในแถบอันดามัน และมีปลูกมากในเขตร้อนทั่วไปเพื่อใช้ปุยจากผลนำมาทำหมอนและที่นอน ชอบขึ้นตามริมลำธาร พบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบเขา

ใบนุ่น ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 5-11 ใบ ก้านใบย่อยยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ส่วนก้านใบร่วมยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอกหรือรูปหอกเรียวแหลม ปลายใบและโคนใบเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 นิ้ว และยาวประมาณ 2-5 นิ้ว แผ่นใบเป็นสีเขียว ก้านใบและเส้นก้านใบเป็นสีแดงอมน้ำตาล
         ดอกนุ่น ออกดอกเป็นช่อกระจะบริเวณซอกใบ ขนาดประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมาก หรือช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 1-5 ดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปถ้วย ปลายดอกแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ ยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลือง กลีบดอกติดกันที่ฐาน กลีบด้านนอกเป็นสีขาวนวลและมีขน ส่วนด้านในกลีบเป็นสีเหลือง กลางดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 5-6 อัน ก้านเกสรเพศเมียไม่แยก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
         ผลนุ่น ลักษณะของผลเป็นรูปยาวรี ปลายและโคนผลแหลม เปลือกแข็ง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 2 นิ้ว และยาวประมาณ 4-5 นิ้ว เมื่อแห้งจะแตกออกได้เป็น 5 พู ภายในผลจะมีนุ่นสีขาวเป็นปุยอยู่ และมีเมล็ดจำนวนมาก
         เมล็ดนุ่น เมล็ดเป็นสีดำ มีเส้นใยสีขาวคล้ายเส้นไหมยาวหุ้มเมล็ดเป็นปุยนุ่นอยู่

 

ประโยชน์

  1. ฝักที่ยังอ่อนมาก ๆ (เนื้อในผลยังไม่เป็นปุยนุ่น) ใช้เป็นอาหารได้ โดยนำมารับประทานสด ๆ หรือใส่ในแกง
  2. เมล็ดใช้สกัดทำเป็นน้ำมันพืช ส่วนกากที่เหลือจะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
  3. ไส้นุ่นสามารถนำมาใช้เพาะเห็ดฟางได้
  4. ขนที่ติดอยู่ที่เมล็ดซึ่งเรียกว่า “นุ่น” หรือ “เส้นใยนุ่น” สามารถนำมาใช้ยัดหมอน ฟูก และที่นอนได้
  5. เนื้อไม้ใช้ทำกระสวยทอผ้า เยื่อกระดาษ ส้นรองเท้า และนำมาบดทำไส้ในไม้อัด
  6. นิยมนำมาปลูกเป็นพืชสวนเพื่อเก็บผลมาใช้ประโยชน์
  7. 7. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง ส่วนยางไม้มีรสฝาดเมา ก็มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลังเช่นกัน (ราก, ยางไม้)
  8. 8. รากสดนำมาคั้นเอาน้ำกินเป็นยาแก้โรคเบาหวาน (ราก)
  9. 9. เปลือกต้นมีรสเย็นเอียน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนใน (เปลือก)
  10. 10. ต้น เปลือกต้น หรือทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ หรือจะใช้เปลือกต้นผสมกับยาอื่นปรุงเป็นยาแก้ไข้ก็ได้ ส่วนชาวมาเลย์จะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ต้น, เปลือก, ใบ, ดอกแห้ง, ทั้งต้น)
  11. 11. ต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ต้น, ทั้งต้น)
  12. 12. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้หวัดในเด็ก (เปลือก)
  13. 13. ชาวสิงคโปร์จะใช้ใบนำมาตำผสมกับหัวหอม ขมิ้น และน้ำ ใช้ดื่มวันละ 3 ครั้งเป็นยาแก้ไอ แก้หวัดลงคอ แก้เสียงแหบห้าว (ใบ)
  14. 14. ช่วยทำให้อาเจียน (เปลือก, ราก)
  15. 15. ชาวฟิลิปปินส์จะใช้เปลือกต้นเป็นยาโป๊ ต้มดื่มแก้หืด (เปลือก)
  16. 16. ยางไม้มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง (ยางไม้)
  17. 17. รากมีรสจืดเอียน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเสีย แก้บิด บิดเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ (ราก)
  18. 18. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้อาหารเป็นพิษ (เปลือก)
  19. 19. น้ำมันจากเมล็ดมีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาระบาย (น้ำมันจากเมล็ด)
  20. 20. เปลือกต้นและรากมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ชาวชวาจะใช้เปลือกต้นนำมาผสมกับหมาก ลูกจันทน์เทศ และน้ำตาลทำเป็นยาขับปัสสาวะ (ใช้ได้ดีในรายที่เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ) ส่วนเมล็ดและน้ำมันจากเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (เปลือก, ราก, เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)
  21. ใบนำมาตำผสมกับหัวหอม และขมิ้น ผสมกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท่อปัสสาวะอักเสบ (ใบ)
  22. 22. ช่วยแก้ระดูขาวที่มากเกินไปของสตรี (ยางไม้)
  23. 23. ใช้เป็นยาบำรุงกำหนัด (เปลือก)
  24. ผลอ่อนใช้กินเป็นยาฝาดสมาน ส่วนยางไม้ก็มีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมานเช่นกัน (ผลอ่อน, ยางไม้)
  25. ใช้เป็นยาแก้โรคเรื้อน (ใบ)
  26. รากใช้เป็นยาแก้พิษแมลงป่อง (ราก)
  27. ใบนำมาเผาไฟผสมกับขมิ้นอ้อยและข้าวสุกใช้เป็นยาพอกฝีให้แตกหนอง (ใบ)
  28. ใบมีรสเย็นเอียน ใช้ตำพอกแก้ฟกช้ำ (ใบ)
  29. ใบอ่อนใช้กินเป็นยาแก้เคล็ดบวม (ใบอ่อน)
  30. ดอกแห้งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวด (ดอกแห้ง)

 

เอกสารอ้างอิง

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). นุ่น. ค้นเมื่อ 9 กันยายน

2564, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). (2553). White silk cotton tree. ค้นเมื่อ 9 กันยายน 2564,

จาก https://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=280