มะม่วง Mango Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mangifera Indica Linn.
วงศ์ : Anacardiaceae
ชื่อตามท้องถิ่น : ขุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), เปา (มลายู), แป (ละว้า-เชียงใหม่), สะเคาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หมักโม่ง (เงี้ยว-ภาคเหนือ)
ต้นมะม่วง เป็นผลไม้เสรษฐกิจ มีสายพันธุ์หลากหลาย รับประทานได้ทั้งดิบและสุก พรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ดอกออกช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ช่วงฤดูร้อนจะออกผล
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น เป็นพรรณไม้ยืนต้น มีความสูงประมาณ 10-30 เมตร หรือมีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เปลือกมีสีน้ำตาลอมดำ พื้นผิวขรุขระ แตกเป็นร่อง
ใบ ใบเดี่ยวสีเขียวลักษณะคล้ายหอก ออกเรียงกันเป็นคู่ ๆ ตามก้านใบ ขอบใบเรียบไม่มีหยัก ฐานใบมน ปลายใบแหลม เนื้อใบหนา
ผล ลักษณะต่างกันขึ้นอยู่กับพรรณ บ้างมีรูปมนรี ยาวรี หรือกลมป้อม ผลอ่อนหรือดิบมีสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผลหนึ่งมีเมล็ดเดียว
ดอก ออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีประมาณ 15-20 ดอก เป็นดอกที่มีขนาดเล็ก มีสีเหลืองอ่อน
ประโยชน์ของต้นมะม่วง
- ใช้ประกอบอาหารหรือรับประทานเป็นของว่างได้หลากหลาย เช่น น้ำพริก ยำมะม่วง ข้าวเหนียวมะม่วง
- นำมาแปรรูปเป็นมะม่วงดอง มะม่วงกวน มะม่วงแก้ว เป็นต้น
- ทรีทเมนท์บำรุงผิวหน้า ใช้มะม่วงสุกบดละเอียด แล้วนำมาพอกหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างออก ทำให้ผิวหน้าดูสะอาดเกลี้ยงเกลา เรียบเนียน
สรรพคุณ
- เปลือกลำต้นและใบ นำมาต้มและดื่มน้ำนั้น เป็นยาแก้ไข้ แก้อาการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ ทั้งภายในเเละภายนอก ยังสามารถตำใบสดให้ละเอียด เพื่อพอกบริเวณแผลสด หรือล้างบาดแผล
- ผล นำมารับประทานเป็นยาแก้คลื่นไส้ แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน เป็นยาระบาย แก้บิดถ่ายเป็นเลือด และบำรุงกระเพาะอาหาร
- เมล็ด นำมาต้มแล้วดื่มน้ำนั้น เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลม แก้ท้องร่วง ริดสีดวงทวาร ตกขาว ท้องอืด และแก้ไอ
เอกสารอ้างอิง
MedThai. (2021). มะม่วง สรรพคุณและประโยชน์ของมะม่วง 34ข้อ, สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2564. จาก. https://medthai.com/มะม่วง
สารานุกรมเสรี. (2021). มะม่วง. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2564. จาก. https://th.wikipedia.org/wiki/มะม่วง
ข้อมูลพรรณไม้. (2021). พืชไม้ผล มะม่วง. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2564. จาก. http://www.rspg.or.th/plants_data/pdata_04.htm
ข่าวในหมวด
Science Walk rally come back again!!!!
Khon Kaen MuArt เส้นทางพิพิธภัณฑ์ฉบับตามใจฉัน
Science Show: สีที่หายไปไฟจราจร, ภูเขาไฟยูนิคอร์น, หมึกล่องหน