Thu. Apr 10th, 2025

มะพร้าว

ชื่อสามัญ Coconut

ชื่อวิทยาศาสตร์  Cocos nucifera L.

ชื่อวงศ์ Arecaceae

ชื่อท้องถิ่น หมากอูน หมากอุ๋น (General), ดุง (Chong-Chanthaburi), โพล (Karen-Kanchanaburi), ย่อ (Malay-Peninsular)

 

ลักษณะทั่วไป

 “ต้นสูงตรง น้ำจากผลสดชื่น”

มะพร้าวเป็นพืชยืนต้นขนาดสูง ที่จัดอยู่ในตระกูลปาล์ม โตเต็มที่สูงประมาณ 18 เมตร จะเริ่มให้ผลเมื่ออายุ 5-6 ปี อายุยืนให้ผลผลิตนานประมาณ 80 ปี ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบเหมือนขนนก ผลประกอบไปด้วยเปลือกนอก ใยมะพร้าว กะลามะพร้าว และชั้นสุดท้ายคือเนื้อมะพร้าว ซึ่งภายในจะมีน้ำมะพร้าว ถ้าลูกมะพร้าวแก่มาก เนื้อมะพร้าวจะดูดเอาน้ำมะพร้าวไปหมด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น มีลำต้นเดียว ไม่แตกแขนง สูงได้ถึง 25 เมตร มีรอยแผลจากการหลุดร่วงของใบตลอดลำต้น สามารถคำนวณอายุของต้นมะพร้าวได้จากรอยแผลนี้ คือ ในปีหนึ่งมะพร้าวจะสร้างใบประมาณ 12- 14 ใบ ดังนั้นใน 1 ปี จะมีรอยแผลที่ลำต้น 12 – 14 รอยแผล

ใบ เป็นใบประกอบ ออกอยู่ตามส่วนของลำต้น ประกอบด้วยก้านทาง (rechis) มีขนาดใหญ่และยาว และมีใบย่อย (leaflet) บนก้านทางประมาณ 200 – 250 ใบ
ดอก ออกเป็นช่อชนิดพานิเคิล มีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย อยู่ในช่อเดียวกัน ดอกมีกลีบดอก 6 กลีบ สีครีมหรือสีเหลืองนวล ไม่มีก้านดอกย่อยดอกตัวเมียจะมีกลีบดอกหนาและแข็งกว่ากลีบดอกตัวผู้
ผล มะพร้าวเป็นชนิดไฟบรัสดรุป (fibrous drupe) เรียกว่า นัท (nut) มีเปลือก 3 ชั้นคือ
1. เปลือกชั้นนอก (exocarp) เป็นเส้นใยที่เหนียวและแข็ง เมื่อแก่อาจมีสีเขียว แดง เหลืองหรือน้ำตาล
2. เปลือกชั้นกลาง (mesocarp) มีลักษณะเป็นเส้นใย มีความหนาพอประมาณ
3. เปลือกชั้นใน (endocarp) มีลักษณะแข็งหรือที่เรียกกันว่า กะลา (shell)
เมล็ด (seed of kernel) คือ เนื้อมะพร้าว ภายในเมล็ดเป็นช่อกลวงขณะผลอ่อนจะมีน้ำอยู่เต็ม ผลแก่น้ำมะพร้าวจะแห้งไปบางส่วน

 

 

ประโยชน์

  1. น้ำมะพร้าว ใช้เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ได้ เนื่องจากอุดมไปด้วยโพแทสเซียม นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติปลอดเชื้อโรค และเป็นสารละลายไอโซโทนิก ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงสามารถนำน้ำมะพร้าวไปใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดเวน ในผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำหรือปริมาณเลือดลดผิดปกติได้ น้ำมะพร้าวสามารถนำไปทำ วุ้นมะพร้าว ได้ โดยการเจือกรดอ่อนเล็กน้อยลงในน้ำมะพร้าว
  2. เนื้อมะพร้าวช่วยแก้อาการระคายเคืองตา ลดไข้สูงได้ เพราะมีฤทธิ์เป็นยาเย็น เนื้อมะพร้าวแก่ นำไปทำกะทิได้ โดยการขูดเนื้อในเป็นเศษเล็ก ๆ แล้วบีบเอาน้ำกะทิออกมาจากมะพร้าว
  3. กะลามะพร้าว นำไปใช้ทำสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น กระบวย โคมไฟ กระดุม ซออู้ ฯลฯ
  4. ก้านใบ หรือ ทางมะพร้าว ใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าว
  5. ใยมะพร้าว นำไปใช้ยัดฟูก ทำเสื่อ หรือนำไปใช้ในการเกษตร
  6. น้ำมันมะพร้าว ได้จากการบีบหรือต้มกากมะพร้าวบด นำไปใช้ในการปรุงอาหารหรือนำไปทำเครื่องสำอางก็ได้ และในปัจจุบันยังมีการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันมะพร้าว
  7. ใบนําไปสานทําหมวกได้
  8. จาวมะพร้าว ใช้นำมาเป็นอาหารได้ ในจาวมะพร้าวมีฮอร์โมนออกซิน และฮอร์โมนอื่นๆแต่ มี ฮอร์โมนออกซิน ปริมาณมากที่สุด ซึ่งเมื่อนำไปคั้น และนำน้ำที่ได้จากจาวมะพร้าว ไปรดต้นพืช จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้
  9. รากมะพร้าว ใช้อมบ้วนปากรักษาอาการเจ็บคอ

 

เอกสารอ้างอิง

ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. (มปป). มะพร้าว. ค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2564, จาก

http://www.qsbg.org/Database/plantdb/mdp/medicinal-specimen.asp?id=500

สุกัญญา กาวิละ. (2562). มะพร้าว. สมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (หน้า 45). เชียงราย: เทคโนปริ้นติ้งเซ็นเตอร์.