Fri. Apr 18th, 2025

โพธิ์ Pipal Tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Ficus religiosa Linn.

ชื่อวงศ์  :   Moraceae

ชื่อเรียกอื่น  :  โพ โพศรีมหาโพ (ภาคกลาง), สสี (ภาคเหนือ), ย่อง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นโพธิ์ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ผลัดใบ แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นพุ่มตรงส่วนยอดของลำต้น ปลายกิ่งลู่ลง กิ่งอ่อนเกลี้ยง ตามกิ่งมีรากอากาศห้อยลงมาบ้าง ลำต้นมีความสูงประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 เมตร และมีน้ำยางสีขาว เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลปนเทา โคนต้นเป็นพูพอนขนาดใหญ่ พบขึ้นทั่วไปทั้งในทวีปเอเชีย ปากีสถาน จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบในธรรมชาติน้อยมาก เข้าใจว่ากระจายพันธุ์มาจากต้นที่มีการนำมาปลูกเอง และพบขึ้นมากตามซากอาคาร และนิยมปลูกกันทั่วไปในวัดทุกภาคของประเทศไทย

ใบโพธิ์ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปใจ ปลายใบแหลมและมีติ่งหรือหางยาว (ปลายติ่งบางใบมีความยาวมากกว่าครึ่งหนึ่งของใบ) โคนใบมนเว้าเข้าหาก้านใบเป็นรูปหัวใจ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-24 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างเหนียว ใบมีลักษณะห้อยลง แผ่นใบเป็นสีเขียวนวล ๆ ส่วนยอดอ่อนหรือใบอ่อนนั้นเป็นสีน้ำตาลแดง ก่อนใบจะร่วงหล่นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก้านใบยาวและอ่อน มีความยาวได้ประมาณ 8-12 เซนติเมตร มีหูใบยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย เมื่อลมพัดจะเห็นใบโพธิ์พลิ้วไปตามต้นใหญ่ดูสวยงาม

ดอกโพธิ์ ออกดอกเป็นช่อกลม ๆ รวมกันเป็นกระจุกภายในฐานรองดอกรูปคล้ายผล โดยจะออกที่ตอนปลายของกิ่ง ดอกย่อยเป็นแบบแยกเพศ ไม่มีก้าน มีใบประดับเล็กที่โคน ฐานดอกเป็นรูปทรงกลม ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองนวล และจะเจริญไปเป็นผล

ผลโพธิ์ ผลเป็นผลรวม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูม่วง สีแดงคล้ำ หรือม่วงดำและร่วงหล่นลงมา

ประโยชน์ของต้นโพธิ์

  1. 1. ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหาร ใช้เลี้ยงหนอนไหม นอกจากนี้ใบโพธิ์ยังมีคุณค่าทางโภชนาการซึ่งสามารถนำมาใช้ในสูตรอาหารในการทำปศุสัตว์ได้ และยังพบด้วยว่าใบมีปริมาณของโปรตีนและธาตุหินปูนสูงผลอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหารได้
  2. 2. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามวัดวาอาราม

สรรพคุณของต้นโพธิ์

1.ใบมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการนำใบแก่ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว ใช้แบ่งกินก่อนอาหารเช้าและเย็น

  1. 2. ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคหัวใจ
  2. 3. ผลมีสรรพคุณเป็นยาช่วยขับพิษ
  3. 4. เมล็ดใช้เป็นยาลดไข้
  4. 5. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้จับสั่นเรื้อรัง
  5. 6. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ
  6. 7. ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ
  7. 8. น้ำจากเปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน รักษารากฟันเป็นหนอง (เปลือกต้น)
  8. 9. รากใช้เป็นยารักษาโรคเหงือก
  9. 10. ใบใช้รักษาโรคคางทูม

02

เอกสารอ้างอิง

ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. (มปป). โพศรีมหาโพ. ค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564. จาก

http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20optionsearch_detail.asp?botanic_id=2250

สถาบันปลูกป่า ปตท. (มปป). โพ. ค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564. จาก

http://www.pttreforestation.com/Plantview.cshtml?Id=32

ส่วนผลิตกล้าไม้สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้. (2021).  ต้นไม้ในพุทธประวัติ : ต้นโพธิ์. ค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564.

จาก https://www.forest.go.th/nursery