Mon. Jan 13th, 2025

ต้นสะแกนา Combretums

ชื่อวิทยาศาสตร์    : Combretum quadrangulare Kurz.

วงศ์       : Combretaceae

ชื่อท้องถิ่น : สะแกนา (ภาคกลาง), แก (ภาคอีสาน,อุบลราชธานี), แพ่ง(ภาคเหนือ), ขอนแข้,จองแข้ (แพร่), ซังแก(ปราจีนบุรี-เขมร)

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นสะแก จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร (บ้างว่าสูงได้ประมาณ 15-20 เมตร) เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทานวล ตามกิ่งอ่อนเป็นสันสี่มุม ส่วนต่างๆ ของลำต้นมีขนเป็นเกล็ดกลม ๆ ต้นสะแกนาที่มีอายุมากบริเวณโคนต้นจะพบหนามแหลมยาวและแข็ง หรือเป็นกิ่งที่แปรสภาพไปเป็นหนามสั้นตามโคนต้น เนื้อใบหนาเป็นมัน ใบมีสีเขียวสด ผิวใบทั้งสองด้านมีเกล็ดสีเงินอยู่หนาแน่น ผิวใบด้านบนสากมือ ก้านใบสั้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นไม้กลางแจ้ง ที่ขึ้นได้ในทุกชนิด แต่เจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียว ชุ่มชื้น และควรปลูกในช่วงฤดูฝน มีเขตการกระจายพันธุ์จากอินเดียจนถึงคาบสมุทรอินโดจีน พบได้ตามป่าละเมาะทั่วไป ป่าเต็งรัง หรือริมธารน้ำชายป่า ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่า 250 เมตร

ใบสะแก  ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่กลับแกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือ

เว้าเป็นแอ่งตื้น ๆ โคนใบสอบแคบไปยังก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบหรือหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร

ดอกสะแก ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ปลายยอด ช่อดอกเป็นแบบช่อเชิงลด ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ไม่มีก้านดอก ในช่อหนึ่งจะมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบเลี้ยงที่โคนที่เชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ส่วนปลายแยกเป็นกลีบ 4 กลีบ กลีบเลี้ยงเป็นสีขาวอมเหลือง ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ สีขาวอมเหลือง ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ปลายมน หลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 อัน เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม

ผลสะแก ผลเป็นผลแห้ง ขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีครีบ 4 ครีบ สีน้ำตาลอมขาว ผลเมื่อแก่หรือสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลแดง 2เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกระสวย มีสัน 4 สัน ตามยาว

ประโยชน์ของสะแก

  1. 1. ผลดิบนำมาแช่กับน้ำไว้ให้วัวหรือควายกินเป็นยาขับพยาธิได้
  2. 2. ชาวบ้านมักจะเอาต้นสะแกนาไปทำฟืนกันมาก เพราะแก่นของต้นสะแกนามีความแข็งมากนั่นเอง

สรรพคุณของสะแก

  1. 1. ต้นและใบใช้ปรุงเป็นยารักษามะเร็งภายในต่าง ๆ (ต้น,ใบอ่อน) เมล็ดมีสรรพคุณแก้มะเร็ง (เมล็ดแก่) ส่วนรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้มะเร็งที่ตับ ปอด ลำไส้ กระเพาะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ (ราก)
  2. 2. เมล็ดมีสรรพคุณแก้ซาง ตานขโมย (เมล็ดแก่ ทั้ง 5 ส่วน มีรสเมาใช้เป็นยาแก้ซางตานขโมย พุงโรก้นปอด (ทั้งต้น)
  3. 3. ช่วยแก้ผอมแห้ง (เมล็ด, ราก)
  4. 4. ใบอ่อนมีรสฝาดเมา สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ใบอ่อน)
  5. 5. ใช้เป็นยาแก้พิษไข้เซื่องซึม (เมล็ด, ราก)
  6. 6. ช่วยแก้ไข้สันนิบาต (ราก)
  7. 7. ช่วยแก้เสมหะ (ราก)
  8. 8. ต้นและรากมีรสเมา มีสรรพคุณเป็นยาแก้อาเจียนเป็นโลหิต (ต้น,ราก)
  9. 9. เมล็ดมีรสเบื่อเมานำเมล็ดมาตำ (ให้ใช้เมล็ดแก่ในขนาด 1 ช้อนคาว หรือประมาณ 3 กรัม หรือใช้เมล็ดประมาณ 15-20 เมล็ด นำมาสับให้ละเอียด) ผสมกับไข่ทอดให้เด็กกินเพียงครั้งเดียวขณะท้องว่าง เป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือน พยาธิตัวกลม และพยาธิเส้นด้ายในเด็กได้ดีมาก โดยจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ถ้าไม่ถ่ายออกมาก็ให้รับประทานยาถ่ายเอาตัวออกมา (เมล็ดแก่) กระพี้มีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิเส้นด้าย (กระพี้) ส่วนรากมีรสเมาใช้เป็นยาเบื่อพยาธิเด็ก ฆ่าพยาธิ ขับพยาธิ (ราก) ทั้ง 5 ส่วนมีรสเมา สรรพคุณเป็นยาขับพยาธิในท้อง (ทั้งต้น)
  10. 10. ช่วยแก้บิดมูกเลือด (ใบอ่อน)

03

เอกสารอ้างอิง

ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร-ตาก.(2020). สะแกนา.สำนักวิทยาบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ

มหาวิทยาลัยราชภัฏกําแพงเพชร.